Image

การประชุมระดับรัฐมนตรี (MM) ครั้งที่ 28

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย
Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT)
                นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ โรงแรมทราย ลากูนา ภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยมีนายอากุส กูมิวัง คาตาซาสมิตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดาโต๊ะ ซรี มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเลเซียเข้าร่วม พร้อมด้วยนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย นายลิม ซื่อ เชียน ผู้อำนวยการกองความเชื่อมโยงแห่งอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐและเอกชนของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีนายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้แทนระดับอาวุโสของไทย ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT ยังจะประกอบด้วย (1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT (The 29th Senior Officials’ Meeting) (2) การประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT (IMT-GT Joint Business Council’s Meeting) และ (3) การประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 19 (The 19th Chief Ministers and Governors’ Forum) 
          การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ดังนี้
     1.แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) จำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 5.7 หมื่นล้านเหรียญ สรอ.  (ประมาณ 2.10 ล้านล้านบาท) โดยโครงการของไทยที่ที่ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) โครงการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ (ตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์) โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ หาดใหญ่–ปะดังเบซาร์
   2.รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศได้เป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อร่วมมือกันกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมยางพารา และเสริมสร้างศักยภาพของเมืองยางพาราของอนุภูมิภาค IMT-GT
      3.ยินดีที่อินเดียเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของ IMT-GT ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา โดยทั้งสามประเทศจะร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานกับอินเดียบนฐานของการใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน รวมทั้งยังมุ่งที่จะขยายความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักเลขาธิการอาเซียน และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสร้างให้เศรษฐกิจของอนุภูมิภาคเติบโตอย่างเข้มแข็งพร้อมไปด้วยกัน
       4.รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565-2569 ภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 ซึ่งจะเป็นกรอบการพัฒนาอนุภูมิภาค IMT-GT โดยมุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงางานและอาหาร การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทอล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาและทุกภาคส่วน ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน การเติบโตอย่างสมดุล การลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
     5.รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศได้ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อแผนงานการดำเนินงานเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 30 ปีแห่งการจัดตั้งแผนงานความร่วมมือ IMT-GT ในปี พ.ศ. 2566 และ The IMT-GT Visit Year พ.ศ. 2566-2568 เพื่อเป็นการพลิกฟื้นและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค IMT-GT
         ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยในการจัดการประชุมในครั้งนี้คือการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนภาคเอกชนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอาหารฮาลาล ซึ่งการลงร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค IMT-GT จะส่งผลให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ และเกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกจากนี้ ผลการประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT ได้สนับสนุนโครงการฝึกอบรมผู้ให้การอบรมเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นับเป็นโครงการที่ส่งประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว SMEs โดยการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยจัดการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ SMEs เพื่อพลิกฟื้นภาคธุรกิจท่องเที่ยว 
       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้ให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของ IMT-GT ประกอบด้วย (1) เร่งพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว (2) มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน และ (3) พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ขณะเดียวกันยังเสนอแผนงาน IMT-GT พัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ปรับปรุงกฎระเบียบให้เกื้อหนุนกัน คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับศักยภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอนุภูมิภาค
      ในช่วงท้ายของการประชุมฯ รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของทั้งสามประเทศได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานร่วมกันเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากการระบาดของโรคโควิด-19 แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของ 8 สาขาความร่วมมือและการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะถัดไป รวมทั้งให้ความเห็นชอบในหลักการต่อแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565–2569 เพื่อจะได้ให้การรับรองโดยผู้นำประเทศในการประชุมระดับผู้นำ แผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 14 ณ ประเทศกัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมทั้งมอบหมายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 30 ปีแห่งการจัดตั้งแผนงานความร่วมมือ IMT-GT ในปี พ.ศ. 2566 และดำเนินตามแผนการดำเนินงานของ IMT-GT Visit Year พ.ศ. 2566-2568 เพื่อเป็นการพลิกฟื้นและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค IMT-GT
         ในปี 2566 รัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นประธานการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ณ อินโดนีเซีย
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

MM 28TH

MM 28TH

MM 28TH

MM 28TH

MM 28TH

MM 28TH