ความเป็นมาของกรอบความร่วมมือแผนงาน IMT-GT
Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT)
แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ก่อตั้งเมื่อปี 2536 จากความเห็นชอบร่วมกันของผู้นำ 3 ประเทศ ตุน มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พลเอกมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้ประโยชน์ จากจุดแข็งของแต่ละประเทศที่มีอยู่มาส่งเสริมเกื้อกูลกันตามหลักหลักความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แผนงาน IMT-GT ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ 8 รัฐทางเหนือและตะวันตกของมาเลเซีย และ ครอบคลุมทั้ง 10 จังหวัดบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ใช้กลไกการดำเนินงานผ่านข้อสั่งการจากที่ประชุม ระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรี และระดับคณะทำงาน อีกทั้งยังมีกลไกการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด และ การประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT ที่ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงาน 8 สาขา และยังสามารถนำเสนอความต้องการ ไปยังที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของแผนงานได้โดยตรง นอกจากนี้ มีสำนักงานเลขานุการ IMT-GT (CIMT) เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงาน มีที่ตั้ง ณ เมืองปุตราจายา มาเลเซีย ปัจจุบัน แผนงาน IMT-GT ดำเนินงานอยู่ภายใต้แผนวิสัยทัศน์ พ.ศ. ๒๕๗๙ (IMT-GT Vision 2036) เพื่อนำไปสู่การเป็นอนุภูมิภาคแห่งบูรณาการ การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และ เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนดำเนินงานระยะ 5 ปีเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือไปสู่ การปฏิบัติซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงปีสุดท้ายของแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี พ.ศ. 2560 –2564
ตุน มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด
พลเอกมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต
นายชวน หลีกภัย
วัตถุประสงค์หลักของโครงการ IMT-GT
คือ การให้ภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เป็นผู้นำทางการค้าและการลงทุน ในการนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจใน ระดับภูมิภาค โดยแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภาษาโดย รัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการสร้างความเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจสนับสนุนในภาครัฐให้จัดสภาพแวดล้อมและ โครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อ ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลักดันให้โครงการ IMT-GT เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อเกิดการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง และ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของโครงการไว้ ดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย
(2) เพิ่มปริมาณการส่งออกจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่ายไปยังตลาดทั่วโลก
(3) ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชากรในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย และประชาชนโดยส่วนรวมของทั้ง 3 ประเทศ
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)
15 ถนนกาญจนวนิชย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110