จังหวัดกระบี่
ข้อมูลทั่วไป
จังหวัดกระบี่ตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัยและทรงพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้วโปรดเกล้าฯให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯและในปีพ.ศ. 2443 ได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ อยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวกเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้เดิมประชาชนชาวกระบี่มีอาชีพทำการเกษตรทั่วไป ทำประมง และค้าขาย และในปี 2512 ได้มีการบุกเบิกปลูกปาล์มน้ำมันด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้มีการขยายการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่องและเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดในปัจจุบัน ต่อมาในปี 2528 จังหวัดกระบี่เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นเมืองเล็กๆ สงบเงียบอยู่กับธรรมชาติและทำการเกษตรเริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยือนเพื่อชมแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ นักธุรกิจในจังหวัดเล็งเห็นศักยภาพของการท่องเที่ยวดังกล่าว จึงเริ่มประกอบการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกเป็นต้น ขณะเดียวกันภาครัฐได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกควบคู่กันไปเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเช่น ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ ถนน เมื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่สามารถรองรับและให้บริการนักท่องเที่ยวได้ทั้งการบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายเกิดความประทับใจ จึงเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จนเป็นจังหวัดที่สามารถสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และชลบุรี ขณะเดียวกันในภาคเกษตรกรรมการปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักก็ขยายพื้นที่ปลูกมากเป็นลำดับต้นของประเทศและมีผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูงที่สุดของประเทศ ส่งผลให้เกิดภาคอุตสาหกรรมตามมา คือ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและลานเท จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดขนาดเล็กที่มากไปด้วยทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ การผสมผสานการดำรงชีวิตของผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และความเชื่อที่แตกต่างอย่างกลมกลืน ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ติดกับทะเลอันดามัน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ 814 กิโลเมตร มีพื้นที่ ทั้งหมด 4,708.512 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,942,820 ไร
สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ
1.เกาะพี พี
2.หาดทับแขก
3.อ่าวนาง
4.ท่าปอมคลองสองน้ำ
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)
สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (OMS) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC1) ชั้น 1 โทร 074-286977 โทรสาร 074-286971