จังหวัดยะลา

Image

ข้อมูลทั่วไป

    คำว่า “ยะลา” มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า “ยาลอ” ซึ่งแปลว่า “แห” ตามประวัติตั้งแต่สมัยสุโขทัย ถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น “เมืองยะลา” เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลปัตตานีต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล โดยออกประกาศข้อบังคับสำหรับการปกครอง 7 หัวเมือง ร.ศ.120 ซึ่งประกอบด้วย เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และเมืองรามัน ในแต่ละเมืองมีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาในปีพุทธศักราช 2476 ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานีและได้มีการจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน “เมืองยะลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งจังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่อยู่่ใต้สุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 5-7 องศาเหนือและเส้นแวงที่ 100-102 องศาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางรถไฟสายใต้ 1,039 กิโลเมตรและตามถนนเพชรเกษมสายเก่า 1,395 กิโลเมตร หรือสายใหม่ 1,084 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 4,521 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2.8 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน

จังหวัดยะลามีการปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็นระดับอำเภอ จำนวน 8 อำเภอ ระดับตำบล จำนวน 58 ตำบล และระดับหมู่บ้าน จำนวน 341 หมู่บ้าน

สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ

1.สตรีทอาร์ท ยะลา

ภาพวาดบนฝาผนังตึก บ้านเรือนใจกลางเมืองเก่าบริเวณชุมชนประชานุกูล ถนนนวลสกุล อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  โดยนำนกสัญลักษณ์ของเมืองยะลาที่ถือเป็นเมืองแห่งนก มีประวัติศาสตร์การเลี้ยงนกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนกกรงหัวจุกและนกเขายะลา จนกลายเป็นวิถีชีวิตท้องถิ่น ภาพนกได้ถูกนำมาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นศิลปะบนท้องถนน โดยศิลปินชื่อดังจากทั่วประเทศไทย เช่น Alex Face, October 29, BigDel  ภาพวาดมีสีสันสดใส มีความเป็นเอกลักษณ์  หากผ่านตัวเมืองยะลาคงเป็นจุดที่น่าแวะเดินเที่ยวชม ถ่ายรูป

2.เขื่อนบางลาง

ที่ได้ชื่อว่า ประตูสู่ฮาลาบาลา ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของยะลา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะแวะพักถ่ายภาพชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อนเพื่อผ่อนคลายจากสะพานข้ามเขื่อนบางลาง มาถึงจุดพักรถตาพระเยา จุดขายสินค้าโอท๊อปขึ้นชื่อ นั่นคือ ปลากระโดด ปลาน้ำจืดตัวเล็กมีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ เราจะได้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านตาพระเยา นำปลากระโดดมาตากแดดบนแผงเรียงยาวบริเวณริมถนน ทำใหม่สดขายแบบวันต่อวัน  ขอดเกล็ด ผ่าท้อง โดยต้องทำทีละตัว จากนั้นล้างทำความสะอาด แช่น้ำเกลือ ตากแดด ปลาไม่มีกลิ่นฉุนตามสไตล์ปลาแห้ง เนื้อปลากรอบแน่น รสชาติไม่เค็มจนเกินไป

3.ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง

จุดชมวิวทะเลหมอกยอดฮิตของเบตงที่เดินทางสะดวกรถถึง และมีทะเลหมอกให้ชมตลอดทั้งปี ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ไฮไลท์ของทะเลหมอกอัยเยอร์เวง คือ สกายวอล์คสูงจำนวน 6 ชั้น ที่สามารถชมวิวทะเลหมอกในมุมสูงเหมือนกำลังยืนเหนือทะเลหมอก และขุนเขาเขียวที่เรียงรายสลับซับซ้อน มีทางเดินลอยฟ้าทอดยาวไปจนสุดระเบียงกระจกวงกลมที่กลายเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงามแปลกตา

4.ภูนภาแคมป์ปิ้ง

ลานกางเต้นท์และที่พักในสไตล์แคมป์ปิ้ง ที่สามารถเห็นวิวภูเขาและสายหมอกได้แบบสุดปัง ทะเลหมอกแบบเดียวกับยอดเขาฆูนุงซีลีปัต จุดชมทะเลหมอกขึ้นชื่อแห่งเบตง  เพียงแต่ที่นี่ไม่ต้องพิชิตยอดเขาให้เหนื่อย แค่ตื่นเช้าออกมาจากเต้นท์ที่พักก็สามารถเห็นทะเลหมอกได้แบบสวยงาม  หรือหากใครไม่ได้ถนัดแนวนอนเต้นท์หรือแคมป์ แต่ต้องการมาชมวิวหน้าที่พักแบบเรา หรือพิชิตยอดฆูนุงซีลีปัตสามารถมาขึ้นทางภูนภาได้ค่อนข้างสะดวกว่าเส้นทางอื่น โดยอุดหนุนอาหารเช้า หรือใช้บริการคนนำทางจากที่พักได้โดยให้ติดต่อล่วงหน้า
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)

สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (OMS) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC1) ชั้น 1 โทร 074-286977 โทรสาร 074-286971