จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลานาน เนื่องด้วยความเหมาะสมของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะทำเลที่ตั้งที่ติดทะเล มีอ่าวที่สามารถกำบังคลื่นลมและเป็นที่พักจอดเรือ จึงเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าและนักเดินเรือจากโลกตะวันตกและตะวันออกประกอบกับจังหวัดปัตตานีมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น สินแร่ เครื่องเทศ ของป่า และพืชพรรณธัญญาหารอื่น ๆ สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองท่าอื่น ๆ บนคาบสมุทรมลายูและภูมิภาคใกล้เคียง โดยเป็นที่รู้จักในนามอาณาจักรลังกาสุกะ หรือหลังหยาซูว ซึ่งปรากฏในเอกสารจีนมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือประมาณเกือบ 2,000 ปีที่ผ่านมา ระหว่างพุทธศตวรรษ 12-16 ศูนย์กลางการปกครองของลังกาสุกะอยู่บริเวณเมืองโบราณยะรัง โดยมีเมืองโกตามหลิฆัยเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครอง มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ดังปรากฏร่องรอยฐานเจดีย์ในพุทธศาสนาจำนวนมากกว่า 30 แห่ง ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรจนมาถึงพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 ปรากฏเมืองท่าแห่งใหม่ชื่อ ปะตานีมีเรือสินค้าจากชาติต่าง ๆ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ชวา อาหรับ และเปอร์เซีย ฯลฯ มาจอดแวะพักและทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับอาณาจักรลังกาสุกะเริ่มเสื่อมลง ชายฝั่งทะเลตื้นเขินแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่จึงย้ายมาอยู่ที่ปะตานี(ต่อมาเรียก ปาตานีและ ปัตตานีในที่สุด) ในเวลานั้นปัตตานีเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่สำคัญของภูมิภาคนี้ และเป็นที่รู้จักในชื่อ “ปาตานีดารุสลาม” จนได้รับการเรียกขานกันว่า “ระเบียงเมกกะ”ต่อมาในปี พ.ศ. 2351 ปัตตานี แบ่งการปกครองออกเป็น 7 หัวเมือง ได้แก่ เมืองตานี ยะหริ่งหนองจิก สายบุรี ระแงะ รามันห์ และยะลา ในปี พ.ศ.2388 ศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานีย้ายมาอยู่ที่จะบังติกอติดกับแม่น้ำปัตตานีในปัจจุบัน ส่วนศูนย์กลางการค้าในระยะแรกอยู่ใกล้ปากแม่น้ำบริเวณหัวตลาดเป็นย่านชาวจีนหรือไชน่าทาวน์ในสมัยนั้น เมืองปัตตานีแห่งใหม่จึงเจริญเติบโตสืบต่อมากระทั่งบัดนี้ สำหรับหัวเมืองอื่นสมัยเดียวกัน ได้แก่ สายบุรี หนองจิก และยะหริ่ง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ระแงะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส และรามันห์ (ปัจจุบันใช้ชื่อรามัน) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ทางตอนล่างของประเทศไทย เป็นจังหวัดเดียวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนที่ไม่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,055 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ1,940.35 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,212,723 ไร่
สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ
1.มัสยิดกลางปัตตานี
2.มัสยิดกรือแซะ
3.ชุมชนเก่าปัตตานี
4.สกายวอลค์ปัตตานี
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)
สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (OMS) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC1) ชั้น 1 โทร 074-286977 โทรสาร 074-286971