จังหวัดสงขลา

Image

ข้อมูลทั่วไป

             

      สงขลาเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่าง มีชุมชนโบราณ เมืองเก่าแก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน สงขลาเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ - เปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993 - 2093 ในนามของเมืองชิงกูร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายกิโลลาสแซร์แวส เรียกชื่อ เมืองสงขลาว่า “เมืองสิงขร”จึงสันนิษฐานว่าคำว่า สงขลา เพี้ยนมาจากชื่อ “สิงหลา” (สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร แปลว่า เมืองสิง เหตุผลที่สงขลามีชื่อว่า สิงหลา สืบเนื่องมาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกลจะเห็นเป็นรูปสิงห์สองตัวมอบเฝ้าปากเมืองทางเข้าเมืองสงขลา จึงเรียกเมืองนี้ ว่า สิงหลา ส่วนคนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมาลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่าเมืองสิงหลาแต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นเซ็งคอรา เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขาย เรียกว่า เซ็งคอรา ตามมาลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ ซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมาลายูและฝรั่งเสียงเพี้ยนเป็นสงขลาอีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลา เพี้ยนมาจาก “สิงขร” แปลว่า ภูเขา โดยอ้างว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่บริเวณ เชิงเขาแดง ต่อมาได้มีการพระราชทานนามเจ้าเมืองสงขลาว่า “วิเชียรคีรี” ซึ่งความหมายสอดคล้องกับ ลักษณะภูมิประเทศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า “สงขลา” เดิมชื่อ สิงหนคร (สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอยู่ท้าย มาลายูไม่ชอบจึงเปลี่ยนเป็น “อา” และชาวมาลายู พูดลิ้นรัวเร็ว ตัด “หะ” และ “นะ” ออก คงเหลือ “สิง-คะ-รา” แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ ซิงโคราจนมีการเรียกเป็น สิงกอรา นอกจากนี้เมืองสงขลาเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลและอุปราชภาคใต้ จนสิ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปี พ.ศ.2475 ได้ยุบมณฑลและภาค เปลี่ยนเป็นจังหวัดสงขลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 950 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 7,393 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,621,180 ไร่ มีขนาดเป็นอันดับ 27 ของประเทศ และใหญ่เป็น อันดับที่ 3 ของภาคใต้

จังหวัดสงขลามีการปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็นระดับอำเภอ จำนวน 16 อำเภอ ระดับตำบล จำนวน 127 ตำบล และระดับหมู่บ้าน จำนวน 987 หมู่บ้าน

สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ

1.หาดสมิหลา

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงของสงขลา หาดสมิหลามีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล หาดทรายขาวละเอียดที่เรียกว่า “ทรายแก้ว” มีป่าสนร่มรื่น จากหาดสมิหลาสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเกาะหนูเกาะแมว จนมีคำกล่าวว่าใครมาเยือนสงขลาแล้วไม่มาเยือนสมิหลาก็เหมือนมาไม่ถึงสงขลา มีสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงรูปปั้น นางเงือกทอง โดยรอบบริเวณได้จัดสวนหย่อมไว้ร่มรื่นเหมาะเป็นที่นั่งพักผ่อนยามเย็น เมื่อมองออกไปในทะเลจะเห็น เกาะหนู เกาะแมวอันเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่ง

2.มัสยิดกลางสงขลา

ตั้งอยู่ที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นศาสนสถาน ศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมในสงขลาที่ใหญ่และอลังการมาก  หากใครได้มาจังหวัดสงขลาแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะมาชมความงดงามของ มัสยิดกลางแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า ” ทัชมาฮาลเมืองไทย ” ยิ่งมาในช่วงเวลาเย็นไปถึงช่วงค่ำ มัสยิดเปิดไฟสว่างมีฉากหลังของ ท้องฟ้าเปลี่ยนสีในยามเย็นงดงามยิ่งนัก

3.ย่านเมืองเก่าสงขลา

ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนสายสำคัญน่าเดินเที่ยว 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงาม เป็นถนนที่ประกอบไปด้วยอาคารและสถาปัตยกรรมงดงาม ที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ มีห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิคสไตล์ ชิโนโปรตุกีส และยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนเรียงรายทั้งสองฟากฝั่งถนน แม้อาคารหลายหลังมีการปรับปรุงทาสีใหม่ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อาคารย่านเก่าสงขลาถือว่า เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาวสงขลา ผ่านมุมมองทางสถาปัตยกรรม  นอกจากนี้ตามอาคารบ้านเรือนบางหลังยังมีภาพสตรีทอาร์ทน่ารักที่สะท้อนเรื่องราวของความเป็นเมืองสงขลา ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปกันอีกด้วย

4.เกาะยอ

เกาะยอเป็นตำบลหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะยอ ได้แก่ สัมผัสวิถีชีวิตชาวเกาะยอพักผ่อนนอนโฮมสเตย์ รีสอร์ท และท่องเที่ยวไปยังจุดที่น่าสนใจต่างๆบนเกาะยอ ได้แก่ วัดแหลมพ้อ สถาบันทักษิณศึกษา และร้านกาแฟ ร้านอาหารสุดชิล  บนเกาะมีภูมิทัศน์ที่สวยงามเป็นเกาะที่มีทั้งภูเขา ที่ราบ แหลม อ่าว ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่น และมีสะพานติณสูลานนท์ เชื่อมระหว่างเกาะยอกับตำบลใกล้เคียงอันก่อให้เกิดมีทิวทัศน์ ที่สวยงามยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือเกาะยอ เป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลา ทำให้บนเกาะมีร้านอาหารชั้นดีมากมาย
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)

สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (OMS) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC1) ชั้น 1 โทร 074-286977 โทรสาร 074-286971