จังหวัดภูเก็ต
ข้อมูลทั่วไป
“ภูเก็ต” ได้มีการขุดพบเครื่องมือหิน และขวานหินที่บ้านกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต แสดงให้ทราบว่ามีมนุษย์อาศัยในดินแดนแถบนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้ว และได้มีหลักฐานเมื่อปี พ.ศ. 700 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 2 ในบันทึกของนักเดินเรือ ชื่อ คลอดิอุสปโตเลมี กล่าวถึงผืนดินหรือแผ่นดินในส่วนนี้ว่า แหลมตะโกลา เป็นผืนดินที่ถูกดันออกมาทางใต้กลายเป็นแหลมยาว อยู่ส่วนปลายสุดของจังหวัดพังงา เนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนของเปลือกโลกขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมารุ่ย (Klong Marui Fault) ซึ่งวางตัวเป็นแนวยาวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพังงาลงมาทางทิศตะวันออกของภูเก็ต ต่อมาได้ถูกคลื่นลมในทะเลกัดเซาะ และตัดพื้นที่ดังกล่าวนี้ ออกจากผืนแผ่นดินใหญ่จนกลายเป็นเกาะ โดยเกิดร่องน้ำระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพังงาขึ้น ที่เรียกว่า ช่องแคบปากพระ (เป็นร่องน้ำแคบ ๆ โดยส่วนที่ลึกที่สุดลึกเพียง 8-9 เมตร) ในปัจจุบันสำหรับการเรียกขานภูเก็ตของชาวต่างประเทศ ในอดีตนอกจากจะเรียกว่า แหลมตะโกลา แล้วได้มีปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงจากบันทึกและแผนที่การเดินเรือมาเอเชียตะวันออกของชาติยุโรป ระหว่าง พ.ศ. 2054-2397เรียกผืนดินนี้ว่า จังซีลอน นอกจากนี้ ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกขานผืนดินนี้ของชาวทมิฬในปี พ.ศ.1568 ว่า มณีครามหมายถึง เมืองแก้ว ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อ ภูเก็จ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ปีพ.ศ.2328 และได้มีการเรียกขานเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ภูเก็ต ซึ่งได้ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่ พ.ศ.2450 เป็นต้นมา ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ชื่อของจังหวัดภูเก็ตที่ได้มีการกล่าวขานตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันนั้น ประกอบด้วย แหลมตะโกลา มณีครามจังซีลอน ภูเก็จ และภูเก็ต ซึ่งในบางครั้งได้มีการเรียกขานว่า สิลัน ถลาง และทุ่งคา ร่วมด้วย จังหวัดภูเก็ตตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 7 องศา 45 ลิปดา ถึง 8 องศา 15 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 98 องศา 15 ลิปดาถึง 98 องศา 40 ลิปดาตะวันออก มีลักษณะเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของภาคใต้ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ส่วนกว้างที่สุดของเกาะภูเก็ตเท่ากับ 21.3 กิโลเมตร ส่วนยาวที่สุดของเกาะภูเก็ตเท่ากับ 48.7 กิโลเมตร รวมพื้นที่ 543.034 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 339,396.25 ไร่ มีเกาะบริวาร 32 เกาะ เฉพาะเกาะมีพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 และทางหลวงจังหวัดหมายเลข 402 รวมระยะทาง 867 กิโลเมตร หรือ 688 กิโลเมตรทางอากาศ
สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ
1.หาดป่าตอง
2.ย่านเก่าเมืองภูเก็ต
3.แหลมพรหมเทพ
4.พระใหญ่ภูเก็ต
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)
15 ถนนกาญจนวนิชย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110