งานเลี้ยงต้อนรับการประชุมสภาสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT

#ยินดีต้อนรับสู่การประชุมสภาสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT

                เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมนึก พรหมเขียว ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวต้อนรับคณะผู้แทนสภาสีเขียว ระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในโอกาสการประชุมครั้งสำคัญนี้ ท่านผู้ว่าฯ ได้แสดงความยินดีและขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดการประชุม รวมทั้งพันธมิตรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนเมืองสีเขียวและสิ่งแวดล้อมภายในอนุภูมิภาค IMT-GT มาโดยตลอด นอกจากนี้ ท่านยังมั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทั้ง 3 ประเทศ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และท่านผู้ว่าฯ ยังได้เชิญชวนทุกท่านร่วมชมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่จังหวัดสงขลาจะเป็นเจ้าภาพในปี 2568 อีกด้วย

               โดยสำนักงานเลขานุการฯ CMGF ในฐานะเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับคณะผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศ นำโดย ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม อ.นพ.วิธู พฤกษนันต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินคร์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF การประชุมสภาสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT นี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการหารือและวางแผนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ที่มา : สำนักงานฝ่ายเลขานุการกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF)

การประชุมสภาสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT

#สงขลาเป็นเจ้าภาพ ประชุมสภาสีเขียว แผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 7 เดินหน้าสู่เมืองสีเขียวอย่างยั่งยืน

            จังหวัดสงขลาได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาสีเขียว ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT (7th IMT-GT Green Council Meeting: GCM) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การประชุมครั้งนี้มีผู้นำและผู้แทนจากทั้งสามประเทศสมาชิก IMT-GT เข้าร่วม นำโดย นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในนามผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิก IMT-GT ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย YB Dr. Haim Hilman Bin Abdullah ประธานคณะกรรมมาธิการอุตสาหกรรมและการลงทุน การอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากรัฐเคดะห์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายมาเลเซีย Mr. Che Wan Muhammed Salleh Al-Koris Bin Che Wan Jaafar@Wan Adnan, Undersecretary, สำนักงานเลขาธิการรัฐปะหัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย Mr. Hafiz Munanda, S.STP, M.Si รองผู้ประสานงานการอำนวยความสะดวกด้านความร่วมมือต่างประเทศ เมืองเปกันบารู เป็นหัวหน้าคณะจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ : รศ. ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ คุณดวงฤทัย สุรศักดิ์จินดา รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานความร่วมมืออนุภูมิภาค แผนงาน IMT-GT (CIMT) Mr. Ricardo Maroso ผู้จัดการโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) คุณสราวุธ สุขรื่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด หัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย คุณพันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์ ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้สำนักงานเลขานุการฯ CMGF ในฐานะเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย นำโดย ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคุณไพโรจน์ โพธิวงศ์ ที่ปรึกษาสำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ที่ประชุมมีสาระสำคัญ ดังนี้ :  

  1. ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและวางแผนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสีเขียวอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค ผ่านการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (SUDF) ทั้ง 7 สาขา นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมากมาย เช่น การมอบรางวัล Green City Award, การบรรจุประเด็นเมืองสีเขียวในหลักสูตรการศึกษา และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองข้ามพรมแดน ประเทศไทย โดยท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เสนอเพิ่มเติมในช่วงการแถลงข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านหมอกควันและผลักดันให้เป็นวาระระดับชาติ
  2. UN-HABITAT ในฐานะพันธมิตรเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาค IMT-GT ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของอาเซียน (ASUS) และกองทุน ASEAN-Australia Smart Cities Trust Fund เพื่อเป็นแนวทางและสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ มาเลเซียได้เสนอให้พิจารณาเกาะลังกาวีเป็นโมเดลต้นแบบของเมืองสีเขียวภายใต้โครงการ ASUS
  3. ประเทศอินโดนีเซีย แจ้งความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาสีเขียว ครั้งที่ 8 โดยรายละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลา และสถานที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป

    นับได้ว่าการประชุมครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์และถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือ IMT-GT ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
ที่มา : สำนักงานฝ่ายเลขานุการกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF)

จัดแสดงนิทรรศการ IMT-GT ณ เมืองเดซารู ประเทศมาเลเซีย

สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และผู้แทน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้จัดแสดงนิทรรศการ IMT-GT ณ เมืองเดซารู ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 9-12 กันยายน 2567

กิจกรรมสำคัญ :

  • การจัดแสดงผ้าลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ : นำเสนอความงดงามและความหลากหลายของผ้าท้องถิ่น สะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของแต่ละจังหวัด
  • การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเน้นจังหวัดตรัง ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 31 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในปีถัดไป
ที่มา : สำนักงานฝ่ายเลขานุการกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF)

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT

                           การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT (30TH IMT-GT MINISTERIAL MEETING) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-G ณ เมืองเดซารู รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี MR. RAFIZI RAMLI  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย เป็นประธานการประชุมฯ DR. EDI PRIO PAMBUDI รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงประสานเศรษฐกิจ  หัวหน้าคณะผู้แทนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคุณศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยนอกจากนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมที่สำคัญประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และรองผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี ผศ.ดร. จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม อ.นพ.วิธู พฤกษนันท์ รองผู้อำนวยสำนักพัฒนาฯ ผศ.ดร.เพ็ชรัตน์ สุริยะไชย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์เชิงรุก คณะวิศวกรรมศาสตร์ นายไพโรจน์ โพธิวงศ์ ที่ปรึกษาสำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF MR. AMRI BUKHAIRI BAKHTIAR ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาค แผนงาน IMT-GT (CIMT) รวมทั้งผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สภาธุรกิจร่วม (JBC) ผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัย (UNINET) และผู้เข้าร่วมประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ :

  • IMT-GT ขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน : IMT-GT เป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและเร่งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
  • กลไกความร่วมมือระดับท้องถิ่น : การมีส่วนร่วมของมุขมนตรีรัฐและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจุดเด่นของ IMT-GT ช่วยผลักดันโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่
  • ความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาสังคม : สำคัญต่อการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐ
  • มุ่งสู่โครงการอนุภูมิภาคที่มีผลกระทบสูง : IMT-GT ต้องการพัฒนาโครงการระดับอนุภูมิภาคที่มีนัยสำคัญ นอกเหนือจากโครงการระดับชาติที่ดำเนินการในปัจจุบัน
  • กรอบเศรษฐกิจสีน้ำเงินอาเซียน : เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการความร่วมมือทั้งระดับชาติและอนุภูมิภาค โดยอาเซียนพร้อมให้การสนับสนุนผ่านเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ
  • ระเบียงเศรษฐกิจ IMT-GT : เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงพื้นที่และนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของ IMT-GT
ที่มา : สำนักงานฝ่ายเลขานุการกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF)

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 31 แผนงาน IMT-GT

                           การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 31 แผนงาน IMT-GT (31ST  SENIOR OFFICIALS’ MEETING : SOM) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF ได้เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 31 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองเดซารู รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี DATUK DR. ZUNIKA BINTI MOHAMED กระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซียเป็นประธานการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศมาเลเซีย ดร.ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย MRS. NETTY MUHARNI กระทรวงประสานงานเศรษฐกิจด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคหัวหน้าคณะผู้แทนสาธารณรัฐอินโดนีเซียนอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากเครือข่ามหาวิทยาลัย (UNINET) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เดวิสัน และรองศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยฝ่ายไทย รวมทั้งสภาธุรกิจ (JBC) แผนงาน IMT-GT สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

การประชุมเน้นประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้:

  • การเติบโตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ : อนุภูมิภาค IMT-GT แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีการค้า การลงทุน และ GDP ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการว่างงานที่ลดลง
  • ความก้าวหน้าของสาขาความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT :  แผนงาน IMT-GT ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือ อาทิ การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล การเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง โครงการการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (TVET)  กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (SUDF) การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และการเกษตร
  • ความร่วมมือข้ามสาขา : ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสาขาต่าง ๆ ผ่านโครงการริเริ่ม เช่น การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม การปรับปรุงกระบวนการทางศุลกากร และการส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมยางพารา
  • โครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ : โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ท่าเรือ สนามบิน และเขตเศรษฐกิจ กำลังดำเนินการหรือเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงและส่งเสริมการค้าภายในอนุภูมิภาค
  • โครงการเรือธง (Flagship Projects) : 3 ใน 17 โครงการเรือธงได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับซูเปอร์ฟรุต หมู่บ้านท่องเที่ยว และเทคโนโลยีการทำฟาร์ม
  • เมืองสีเขียว : 44 เมืองในอนุภูมิภาคได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมืองสีเขียว และกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (SUDF) เช่น การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาคารประหยัดพลังงาน และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
  • Visit IMT-GT Year 2023-2025 : ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 22.6 ล้านคนเข้าสู่อนุภูมิภาค
  • การสนับสนุนจาก ADB : ทาง ADB ยังคงให้การสนับสนุนแผนงาน IMT-GT ผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) การพัฒนาเมืองสีเขียว ระเบียงเศรษฐกิจ การปรับตัวฟื้นฟูการท่องเที่ยว และการเพิ่มขีดความสามารถ
  • ความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตรเพื่อการพัฒนา : แผนงาน IMT-GT มีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อาเซียน ADB อินเดีย และ UN-ESCAP
  • แนวทางการดำเนินงานในอนาคต : แผนงาน IMT-GT มุ่งเน้นการเสริมสร้างการดำเนินงานและการติดตามโครงการต่าง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน การเร่งรัดการดำเนินงานตามกรอบ SUDF การกระชับความร่วมมือในสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ และการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรภายนอก
ที่มา : สำนักงานฝ่ายเลขานุการกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF)